หลักการและเหตุผล

       การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานำมาสู่มิติการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน กลไกการบริหารราชการยังเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งในสังคมไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการศึกษาประสบการณ์ของชุมชนหรือองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่และการศึกษางานที่มีการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในสังคมไทย นำมาสู่แนวทางการสร้างชุมชนในระดับตำบลและระดับจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง อันเป็นการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของชุมชนหรือพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกหรือเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพื้นที่ในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจัดการงบประมาณแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณของจังหวัดหรืองบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งบประมาณขององค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งตอบสนองในระดับพื้นที่ เช่น งบประมาณของ สปสช ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน เป็นต้น

       โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับตำบลและจังหวัด ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินกิจกรรมกลุ่มแบบเน้นการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน ประสานงาน และบูรณาการการดำเนินงานจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนผ่านพื้นที่กลางระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่ออาศัยความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ระดับต่าง ๆ พัฒนามาสู่การสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย อันจะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยเป็นประชาธิปไตยที่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปภายหน้า

       เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเข้มแข็ง คณะผู้วิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกันจัด “การประชุมวิชาการระดับชาติ ในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” นี้ขึ้น ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคึเครือข่ายทางวิชาการ ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ดังต่อไปนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สภาองค์กรชุมชน, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมกันเสริมสร้างและพัฒนาส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. สร้างและพัฒนาส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกส่วน
  2. เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยการเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยโดยเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ และผู้สนใจ
  3. เป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเข้มแข็งไปสู่สาธารณะ