ประวัติความเป็นมา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ถือกำเนิดจากพระราชดำริอันกว้างไกลและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านการบริหารการพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพื่อให้สถาบันมีสาขาวิชาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิการบดีท่านแรกของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้มีดำริว่า “หากจะให้ครบถ้วนความเป็นพัฒนบริหารศาสตร์ต้องมีนิติศาสตร์รวมอยู่ด้วย”
คณะนิติศาสตร์จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ 3 ธันวาคมพุทธศักราช 2552 โดยการผลักดันของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีในขณะนั้น และได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ท่านแรก
คณะนิติศาสตร์มีปณิธานอันมุ่งมั่นในการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาสังคมที่เป็นธรรม โดยให้ความรู้ทางกฎหมายและสร้างนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ มีคุณธรรม จริยธรรม สุจริต เที่ยงตรงทั้งต่อตนเองและประชาชน มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนอกจากการจัดการเรียนการสอนทางกฎหมายแล้ว คณะนิติศาสตร์ได้จัดตั้ง “ศูนย์กฎหมายเพื่อการพัฒนา” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ในการตอบสนองภารกิจในการให้บริการวิชาการและความรับผิดชอบต่อสังคมโดยให้บริการคลินิกกฎหมาย ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจัดให้มีบริการภายในศูนย์กฎหมายเพื่อการพัฒนา และการให้ความรู้และคำปรึกษาทางกฎหมายในชุมชนต่าง ๆ อันเป็นภารกิจเชิงรุกของคณะนิติศาสตร์ในการให้บริการแก่สังคม อีกทั้งยังได้พัฒนาความรู้ คุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษาในการเป็นนักกฎหมายที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
โดยที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ประกาศค่านิยมหลัก “WISE” หมายถึง Wisdom (ปัญญา) Integrity (ความซื่อตรง) Sustainable Impact (การสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน) และ Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) โดยสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์รับทราบ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ประกอบกับวาระที่คณะนิติศาสตร์ครบรอบการสถาปนา 15 ปี
คณะนิติศาสตร์จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับทิศทางของสถาบัน โดยจัดให้มีการรับฟังข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของคณะนิติศาสตร์ ทั้งนักศึกษาเก่า นักศึกษาปัจจุบัน บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการ เพื่อร่วมกันทบทวนพันธกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และประกาศปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ค่านิยมร่วม และเป้าหมายของ คณะนิติศาสตร์ ดังต่อไปนี้
วิสัยทัศน์ ปรัชญา และพันธกิจ
วิสัยทัศน์
“เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตทางกฎหมายชั้นสูง เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน”
ปรัชญา
“นิติพัฒน์ : นิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน”
พันธกิจ
- สร้างบัณฑิตทางกฎหมายที่มีความรู้ ทักษะ และภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาประเทศ
- เป็นสำนักคิดทางนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา (School of Legal thought for Development) ระดับประเทศ
- ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- สร้างนิติสำนึก และนิติทัศนะ ในการเป็นนักกฎหมาย ที่มีคุณธรรมจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 | สร้างรากฐานและขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice) |
ยุทธศาสตร์ที่ 2 | เป็นผู้นำด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ด้านนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา |
ยุทธศาสตร์ที่ 3 | พัฒนาหลักสูตรด้านกฎหมายเพื่อการพัฒนาและสร้างเสริมทักษะของนักกฎหมายเพื่อการนำสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน |
ยุทธศาสตร์ที่ 4 | ออกแบบ “นิติวิทยาการเรียนรู้” (Legal Pedagogy) ให้สามารถนำองค์ความรู้ทางกฎหมายไปใช้ในการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
ยุทธศาสตร์ที่ 5 | ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมาย เพื่อสร้างนักวิชาการ นักวิชาชีพ และนักบริหาร ที่มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) |
ยุทธศาสตร์ที่ 6 | ปลูกฝังบัณฑิตให้มีจิตสำนึกทางกฎหมาย ในการนำองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนและสังคมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ |
ยุทธศาสตร์ที่ 7 | นำระบบการบริหารจัดการองค์กรด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ |
ค่านิยมร่วม
GSL+ โดยย่อมาจาก
G | = | Glocalization and Governance |
S | = | Social Justice and Sustainability |
L | = | Legality and Leadership |
เป้าหมาย
NITIPATs โดยย่อมาจาก
N | = | Network | เครือข่าย | |
I | = | Innovation and Impact | นวัตกรรม | |
T | = | Trust | ความเชื่อมั่น | |
I | = | Integrity | ความซื่อสัตย์ | |
P | = | Professionalism | มืออาชีพ | |
A | = | Accountability | ความรับผิดชอบ | เป้าหมาย SDG ที่ 16 (16.6) |
T | = | Teamwork | การทำงานเป็นทีม | |
S | = | Social Impacts | ผลกระทบต่อสังคม |