GSL หลักสูตรฝึกอบรม เทคนิคการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมายไทยและมาตรฐานยุโรป
MUM

เทคนิคการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมายไทยและมาตรฐานยุโรป

เกี่ยวกับหลักสูตร

ชื่อหลักสูตรอบรม

หลักสูตรเทคนิคการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
ตามกฎหมายไทยและมาตรฐานยุโรป

Making an Ultimate goal of data Management (MUM):

Practical Techniques for Complying with the Data Protection Law

หลักการและเหตุผล

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญสำหรับองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ได้ตั้งเอาไว้ ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นแล้วองค์กรอาจประสบกับปัญหาหลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานตามปกติแทบทั้งสิ้นหรืออาจกลายเป็นความเสี่ยง (risks) ประเภทหนึ่งขององค์กรที่จะต้องรับมือ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีข้อมูลรั่วไหล อาจทำให้ต้องรับผิดทางแพ่งในการชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษในทางอาญาซึ่งมีโทษปรับหรือจำคุก หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็อาจต้องเผชิญกับโทษทางปกครอง ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรอาจได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งก็คือความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ อันเป็นความเสียหายที่มิอาจคำนวณเป็นตัวเงินได้และการกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมานั้นอาจทำได้ยากและต้องใช้เวลานานตามกฎหมายไทยและมาตรฐานยุโรป

ในปัจจุบันหลักสูตรอบรมทางกฎหมายในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีจำนวนมาก คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่เปิดหลักสูตรอบรมมาตั้งแต่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ภายใต้หลักสูตรที่ชื่อว่า “หลักสูตรเทคนิคการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายไทยและมาตรฐานยุโรป” จึงทำให้คณะนิติศาสตร์ ฯ รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติขององค์กรต่างๆ ซึ่งได้มาจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้เข้าอบรม ทำให้สามารถออกแบบและพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันได้ จุดเด่นที่สำคัญของหลักสูตรคือการรวบรวมผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติที่มีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติที่สั่งสมประสบการณ์มาจากการให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำระดับประเทศและ/หรือเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer)

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายไทยและกฎหมายแห่งสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation)
  2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมทราบถึงข้อพึงระวังและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเรียนรู้จากคดีที่เกิดขึ้นจริง
  3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการในการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมกับข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละประเภท
  4. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer (DPO)) ขององค์กร รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่และแนวทางแก้ไข
  5. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถปรับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งทราบถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับใช้กฎหมายและสามารถบริหารจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
  6. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และได้มีโอกาสปรึกษา ซักถามเกี่ยวกับปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ จากวิทยากรผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เฉพาะด้าน

เนื้อหาการอบรม

  1. เทคนิคการจำแนกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว
  2. เทคนิคการตรวจสอบสถานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร
  3. เทคนิคการเลือกใช้ฐานทางกฎหมายในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  4. เทคนิคการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  5. เทคนิคการโอนข้อมูลส่วนบุคคลข้ามประเทศ
  6. เทคนิคการกำหนดมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละประเภท
  7. เทคนิคการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  8. เทคนิคการจัดการกรณีข้อมูลรั่วไหล และเทคนิคในการจัดการคำร้องขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  9. เทคนิคการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการข้อมูลในบริบทออนไลน์
  10. เทคนิคการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปรับใช้กฎหมายในบริบทต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน

กลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม

องค์กรภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไป

การรับรองผลการฝึกอบรม

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่จะได้รับประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด

ผู้อำนวยการหลักสูตร

อาจารย์ ดร. อัญธิกา ณ พิบูลย์

  • อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • ที่ปรึกษากฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดต่อสอบถาม

  • คุณลักขณา  อ่อนล้อม โทรศัพท์: 0-2727-3712 /080-5048524
  • คุณณัฏฐ์ธยาน์  จารียานุกูล โทรศัพท์: 0-2727-3664 /083-5363616
  • LINE: @mumnida